Expo 2020: คู่มือฉบับครบจบที่นี่
ทุก ๆ 5 ปี นานาประเทศจะมารวมตัวกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นเวลายาวนานถึง 6 เดือน โดยประเทศเจ้าภาพที่จัดกิจกรรมนี้จะเชิญชวนให้ประเทศเหล่านี้มาร่วมกันสร้าง ‘พาวิลเลียน’ (Pavilion) หรือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการที่สะท้อนอัตลักษณ์ของตนเอง
หากจะให้บรรยายว่ายิ่งใหญ่เพียงใดนั้น ต้องกล่าวว่าจำนวนผู้เข้าชมในสองครั้งล่าสุดของการจัดงานนี้ มีจำนวนรวมกันถึงกว่า 100 ล้านคน (เทียบกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกซึ่งมีผู้เข้าชมรวมกันทั้งหมดเพียงแค่ 14 ล้านคนเท่านั้น)
งานนี้อาจจะถูกเรียกขานแตกต่างกันไป อาทิ ‘งานแฟร์ของโลก’ (World’s Fair) หรือ ‘งานนิทรรศการนานาชาติ’ (International Exhibition) แต่ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ ‘Expo’ ที่ย่อมาจากคำว่า Exposition ซึ่งมีความหมายว่า การจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ นั่นเอง
ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้น ไม่มีงานนิทรรศการใด ๆ ที่จะรวบรวมนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจความเปลี่ยนแปลงความเป็นไปทางด้านเทคโนโลยี ศิลปะ วัฒนธรรม ของประเทศต่าง ๆ ในโลก ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่ากับงาน Expo อีกแล้ว นอกจากที่งาน Expo จะเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนสามารถมาพบปะซึ่งกันและกัน และติดตามแนวโน้มทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดของโลกได้อย่างสะดวกและครอบคลุมแล้ว งาน Expo ยังเป็นพื้นที่เปิดตัวนวัตกรรมที่สำคัญของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องโทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์มือถือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์จอแบน
หากเป็นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการคงไม่มีวันลืมช่วงเวลาที่ แฮมเบอร์เกอร์ ไอศกรีม ฮ็อตด็อก เนยถั่ว ชาเย็น หรือซอสมะเขือเทศปรากฏออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในงาน Expo
สำหรับสถาปนิกนั้น งาน Expo คือ ‘สนามเด็กเล่น’ แห่งแนวคิดทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ดี ๆ นี่เอง โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในตำนานทั้งหลาย อาทิ หอไอเฟล โครงสร้างลูกเหล็กทรงกลม ‘อะโตเมียม’ หอสังเกตการณ์อวกาศซีแอตเติล โรงแรม ‘แคปซูล’ ขนาดจิ๋วที่ประหยัดพื้นที่ได้มหาศาล หรือโดม ‘จีโอเดสิก’ ทรงกลมซึ่งประกอบขึ้นมาด้วยโครงสร้างแบบสานที่มีความเบาแต่สามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างอย่างน่าเหลือเชื่อ ล้วนได้รับความสนใจครั้งแรกจนกลายเป็นการขนานนามจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการถูกสร้างขึ้นเพื่องาน Expo ทั้งสิ้น
อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่มีสีสันของงาน Expo นี้ การเป็นเจ้าภาพงาน Expo นั้นจึงหมายถึงศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับโลก กระตุ้นเศรษฐกิจ และเปิดตัวโครงการพัฒนาเมือง ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังต่อไปในบทความนี้
งาน Expo ที่กำลังจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 นี้ ถูกจัดขึ้นที่ นครดูไบ แห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โคโรนาจะทำให้งานถูกเลื่อนระยะเวลาในการจัดออกมาถึงหนึ่งปีเต็ม แต่ทางคณะผู้จัดยังขอยืนยันที่จะใช้ชื่องาน ‘Expo 2020 Dubai’ ดังเดิม แทนที่จะเป็น ‘Expo 2021 Dubai’ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเขตตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียใต้ ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานที่ยิ่งใหญ่ในระดับนี้ (งานในระดับเดียวกันที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืองานฟุตบอลโลกที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 นี้)
ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็นขนาดอันมโหฬารและการออกแบบผังพื้นที่ของงานที่อลังการจากภาพมุมสูงของสถานที่จัดงาน Expo ที่นครดูไบ ซึ่งมีขนาดถึงกว่า 4.3 ตารางกิโลเมตร หรือพอ ๆ กับเกาะรัตนโกสินทร์นั้น จะมองเห็นคุณลักษณะ 3 ประการของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปัจจุบัน คือ ความรวดเร็วในการพัฒนาแบบติดจรวด ไม่รอใคร (Speed) ความยิ่งใหญ่ แบบว่า ‘เล็ก ๆ ไม่ทำ’ (Scale) และความมุ่งมั่นจริงจังที่จะทำให้งาน Expo ครั้งนี้ถูกจดจำและบันทึกในประวัติศาสตร์ (Seriousness) ว่าเป็นงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่มนุษยชาติได้เคยจัดขึ้น ให้สมกับคำขวัญของงานคือ ‘โชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก’ (The World’s Greatest Show)
งาน Expo ระหว่างช่วงการระบาดของโควิด-19
การเดินทางมาเยือนนครดูไบของผมในครั้งนี้ เป็นการเดินทางออกต่างประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผมได้ทำใจไว้แล้วว่าทั้งการออกนอกประเทศและการเข้าประเทศอื่นนั้นจะต้องมีความยุ่งยากแน่นอน
ทว่าผมค่อนข้างประหลาดใจที่นครดูไบต้อนรับเราดีกว่าที่คิด มีเพียงแค่การตรวจ RT-PCR หลังจากเดินลงเครื่องบินที่สนามบินเท่านั้นเอง พวกผมและคณะเพียงแค่รับสัมภาระจากสายพานแล้วก็เดินไปยังทางออกสนามบินเช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอีกนับหมื่นคนที่เดินทางเข้าสู่นครดูไบในแต่ละวัน
จะว่าไปแล้วนครดูไบดูไม่เหมือนกับเป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลางช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 แต่อย่างใด ผู้มาเยือนไม่มีความจำเป็นต้องกักตัวเลย โดยถ้าผลตรวจเป็นบวกหลังจากที่เราออกจากสนามบินไปแล้ว ก็จะมีการติดต่อด้วยข้อมูลสถานที่พักที่เราได้ให้ไว้เมื่อตรวจ RT-PCR ตอนลงเครื่องบิน
กิจการต่าง ๆ ในนครดูไบนั้น ไม่เพียงแต่ดำเนินไปอย่างเป็นปกติเท่านั้น หากข้อจำกัดในการปฏิบัติตัวยังไม่เคร่งครัดเท่าสถานที่อื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งสาเหตุของความไม่เคร่งครัดนั้นมาจากความพร้อมของงานหลังบ้านและประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีน ซึ่ง ณ เวลาที่ผมไปถึงนครดูไบนั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศว่ามีมาตรการทั้งเชิงรับและเชิงรุกในการรับมือการระบาดที่ดีที่สุดในโลก
งาน Expo 2020 ณ นครดูไบ ต้อนรับผู้มาเยือนกว่า 3 ล้านคนในระยะเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่พิธีเปิดงานในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินความคาดหมายของผู้จัด เนื่องจากการที่กลุ่มเป้าหมายในหลายประเทศยังไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ นครดูไบได้วางมาตรการป้องกันที่รัดกุม และมีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้างานต้องแสดงบัตรเข้าชม และหลักฐานการฉีดวัคซีนด้วยทุกครั้ง พนักงานทุกคนที่มาปฏิบัติหน้าที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน รวมถึงการตรวจสอบเชื้อไวรัสระหว่างการปฏิบัติงานในงาน Expo เพียงแค่พนักงานสงสัยว่าตนเองอาจได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาก็สามารถมาเข้ารับการตรวจ RT-PCR ได้ฟรีตลอดงาน
ระหว่างช่วงเวลาหกสัปดาห์ในนครดูไบ เราพบปะพูดคุยกับแขกในงาน Expo เฉียดหลักพันคน ทั้งในแบบที่เป็นทางการ และพูดคุยสนทนาเป็นการส่วนตัว เช่น ในช่วงระหว่างการรับประทานอาหาร หรือระหว่างรอเติมน้ำ ณ จุดบริการน้ำสะอาดต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในงาน (เพราะ Expo ช่วงเดือนตุลาคมร้อนระอุมาก) แขกผู้มาเยือนงาน Expo โดยส่วนมากคือผู้ที่อยู่อาศัยในนครดูไบเอง โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจหรือเดินทางมารับจ้างอยู่ที่นครดูไบ ส่วนใหญ่มากจาก อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ศรีลังกา อิหร่าน และประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนถึง 85% ของประชากร 3 ล้านกว่าคนที่พักอาศัยอยู่ในนครดูไบทั้งหมด
ถึงแม้ว่าเมืองดูไบจะมีสิ่งก่อสร้างที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่แล้ว อาทิ ‘Global Village’ หรือสวนสนุกที่รวมวัฒนธรรมของ 90 ประเทศทั่วโลกไว้ในที่เดียว ซึ่งว่ากันว่าเป็นสวนสนุกแห่งการท่องเที่ยว พักผ่อน ช้อปปิ้ง และความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ‘Palm Jumeirah’ หรือหมู่เกาะเทียมที่สร้างขึ้นโดยใช้การถมที่ดินขยายลงไปในอ่าวเปอร์เซีย เรียกได้ว่าผู้คนท้องถิ่น ณ นครดูไบนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของคนและวัฒนธรรมอยู่อย่างล้นหลาม ไปเยี่ยมชมได้ทั้งปีไม่เบื่อ ทว่าผู้คนท้องถิ่นที่มาเข้าชมงาน Expo เหล่านี้ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจกับงาน Expo ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะ ‘ความโหยหา’ การรวมตัวของผู้คนมากหน้าหลายตาในระดับนานาชาติแบบนี้ก็เป็นได้
จากที่ผมได้สนทนากับผู้จัดงาน Expo เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือน เหยียบพันคนตลอดช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น ได้พบสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ตัดสินใจเข้าร่วมงาน Expo ในครั้งนี้ ซึ่งหลัก ๆ มี 3 ประการ ด้วยกัน
ประการแรกคือ การพบปะกันในรูปแบบใดก็ไม่อาจเทียบเท่าการพบปะเจอหน้ากันในสถานที่จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน และผู้ประกอบการที่ต้องการเปรียบเทียบสถานการณ์ธุรกิจของตนเองกับธุรกิจของคู่แข่งทางการค้า มนต์เสน่ห์ของงาน Expo จึงดึงดูดผู้คนให้มาเยือนเป็นจำนวนมาก แม้วันเวลาจะผ่านไปกว่า 170 ปีแล้ว งาน Expo ก็ยังเป็นทั้งพื้นที่ และข้ออ้างในการพบปะเผชิญหน้ากัน
โดยงาน Expo มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ ‘World Expo’ ซึ่งเป็นงานหลักที่จัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี ซึ่งงานที่นครดูไบนี้ถือเป็น World Expo หรืองานหลัก โดยแต่ละครั้งจะจัดยาวนานถึง 6 เดือน ซึ่งแตกต่างจากงาน ‘Expo เฉพาะทาง’ หรือ ‘Specialized Expo’ ที่จะจัดขึ้นบ่อยครั้งกว่า และมีระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น โดยครั้งล่าสุดที่จัดไป คือที่ เมือง อัสตานา ซี่งเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศคาซัคสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
ประการที่ 2 งาน Expo มีลักษณะเป็นงานที่มีเกียรติ เพราะ ‘ปิด’ สำหรับเฉพาะกลุ่ม (Exclusive) และ ‘เปิด’ (Inclusive) สำหรับผู้คนในวงกว้าง
หมายความว่าประเทศต่าง ๆ ต้องผ่านมาตรฐานบางประการถึงจะได้รับเชิญเข้าร่วมงาน แต่เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานแล้ว ‘สาร’ ที่สื่อออกไปจากงานจะอยู่ในสายตาของผู้คนทั้งโลก เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ต้องรักษามาตรฐานของตนเพื่อให้ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งหากได้เข้าร่วมการแข่งขันแล้ว ดวงตาทุกคู่ของผู้ชมก็จะจับจ้องมองมาที่พวกเขา ประเทศใดไม่สามารถเข้าร่วมงาน Expo ได้ ก็ไม่ต่างจากประเทศที่ไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก กล่าวคือเป็นการบอกประชากรโลกโดยนัยว่าประเทศนั้นมีศักยภาพที่จำกัด
การจัดแสดงที่งาน Expo ไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารว่าประเทศนั้นทำอะไรอยู่ แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าสามารถทำสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมางาน Expo ได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมระดับนานาชาติอื่น ๆ บ่อยครั้งนัก ไม่ว่าจะเป็นด้าน กีฬา วัฒนธรรม หรือธุรกิจ
ถ้าพูดถึงบทบาทของงาน Expo ที่มีต่อประเทศต่าง ๆ ทั้งนักวิจารณ์ และสื่อหลายแขนง นิยมใช้คำว่า “อำนาจอ่อน” ในการอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คำว่า “อำนาจอ่อน” (Soft Power) คือ การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด หรือการใช้กระบวนการโน้มน้าวชักชวนให้เกิดความร่วมมือ โดยไม่ได้ใช้อำนาจทางการทหาร หรืออำนาจทางการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเรียกว่า “อำนาจขู่เข็ญ” (Hard Power)
งาน Expo จึงเป็นเหมือนการมอบอาวุธที่เรียกว่า “อำนาจอ่อน” ให้กับประเทศที่เข้าร่วม ด้วยความที่ประเทศต่าง ๆ สามารถเลือก “สาร” ที่จะ “สื่อ” ในงาน Expo ได้ด้วยตนเอง งาน Expo จึงเป็นสถานที่ที่ประเทศเหล่านั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจที่พึงประสงค์ผ่านเนื้อหานิทรรศการที่นำเสนอ เช่น งาน Expo ปี พ.ศ. 2553 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้มาเยือนจำนวนมากจนทำให้นครเซี่ยงไฮ้ ซี่งในยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเคยเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาค ได้กลับมาเป็นที่รู้จักในนามมหานครของโลกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการจัดงานมหกรรมเพื่อทำให้เมืองเป็นที่รู้จักนี้เป็นแนวทางที่จีนใช้ได้ผลมาแล้วจากการจัดงานมหกรรมโอลิมปิกเมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา
เหตุผลประการที่ 3 งาน Expo 2020 คือกิจกรรมที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะการส่งสารของ ‘ความหวัง’
สองปีที่ผ่านมาที่พวกเราได้อดทน ตรากตรำเพื่อก้าวผ่านวิกฤตการณ์แห่งศตวรรษจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 งาน Expo ในครั้งนี้เป็นการสื่อสาร ‘พลังบวก’ ให้มนุษยชาติได้รู้ว่าเราจะผ่านมันไปด้วยกัน แม้ว่าหลาย ๆ คนจะยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ อีกกว่า 190 ประเทศได้ประกาศให้โลกรู้ว่าโรคระบาดในสถานการณ์อะไรหน้าไหน ไม่สามารถเอาชนะพวกเราได้ งานที่ยิ่งใหญ่ในระดับนี้ต้องใช้การวางแผน และการจัดการอย่างยิ่งยวด แต่คณะผู้จัดงานก็สามารถทำได้สำเร็จโดยใช้เวลาล่วงหน้าเพียง 1 ปีเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์ ความเจริญก้าวหน้า การเตรียมการ และ ผลที่ตามมา (Product, Progress, Preparation and Post-Event)
มร. ชาล์ลส์ ปับปาส (Charles Pappas) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติความเป็นมาของงาน Expo ได้กล่าวว่า ประวัติความเป็นมาของงาน Expo ที่ยาวนานเกือบ 200 ปีนั้น สามารถอธิบายโดยสรุปได้ด้วย ‘3 P’ คือ Products (ผลิตภัณฑ์) Progress (ความเจริญก้าวหน้า) และ Preparation (การเตรียมการ)
แนวคิดในการจัดงานนิทรรศการใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อกลุ่มผู้ประกอบการได้จัดงานกิจกรรมขึ้น ณ กรุงลอนดอนเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับทั้งผู้ผลิตได้เห็นศักยภาพของคู่แข่งขัน และคนทั่วไปได้ยลโฉมเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดย งานนิทรรศการขนาดใหญ่อีกกว่า 30 ครั้งที่เกิดขึ้นตามมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็นงานที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสิ้น โดยในช่วง 80 ปีแรกของงานนี้ เจ้าภาพจะหมุนเวียนกันไปไม่กี่ประเทศโดยหลัก ๆ คือ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยมีครั้งหนึ่งที่ข้ามทวีปไปจัดงานไกลถึงนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย หากแต่ก็เป็นเพราะเวลานั้นออสเตรเลียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความต้องการที่จะให้ประเทศใหม่ในทวีปที่ห่างไกลนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
ความสนใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายประเทศอยากเป็นเจ้าภาพงาน Expo ประเทศฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดงาน Expo ได้จัดตั้งสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ หรือ Bureau International des Exposition (มีชื่อย่อว่า BIE) ขึ้นมาเพื่อคัดเลือกเจ้าภาพในการจัดงานอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ต่างคนต่างจัดแล้วแย่งลูกค้าผู้เข้าร่วมงานกันเอง และไม่ให้เกิดความสับสนว่างานไหนคือของจริงงานไหนคือของปลอมซึ่งจะนำไปสู่ความสนใจที่ลดลงเนื่องจากคุณภาพของงานที่ด้อยลงไป ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา เมืองที่ต้องการเป็นเจ้าภาพจะต้องผ่านการรับรองและคัดเลือกจาก BIE เสียก่อน
ผลกระทบจากสงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้ประเทศผู้เข้าร่วมงานรวมถึงคณะผู้จัด เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์มาเป็น ‘ความเจริญก้าวหน้า’ (Progress) กล่าวคือ เป้าหมายของงาน Expo เปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันทางธุรกิจ มาเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศแทน ในงาน ‘Expo 1958 Brussels’ ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ณ กรุงบรัสเซลล์ นั้นงานสถาปัตยกรรมหลักของงานอย่าง ‘อะโตเมียม’ ก็ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึง ‘ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี’ ในมิติดังกล่าว โดยสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของนครบรัสเซลล์ระดับเดียวกับหอไอเฟลของนครปารีสนั้นคือโครงสร้างโมเลกุลของผลึกที่แสดงถึงแรงศรัทธาที่มีในพลังของวิทยาศาสตร์ เป็นโครงสร้างสแตนเลสที่มีขนาดใหญ่กว่าโมเลกุลของจริงถึง 165,000 ล้านเท่า เพื่อสื่อสารความนัยว่าโครงสร้างของโมเลกุลนั้น ‘เป็นกลาง’ ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเอาไปผลิตระเบิดปรมาณูเพื่อทำลายล้างกัน หรือสร้างพลังงานสะอาดเพื่อให้นานาประเทศได้พัฒนาร่วมกัน
ระหว่างทศวรรษที่ 70 ถึง 80 นั้นไม่มีการจัด ‘World Expo’ หรือ Expo หลักอีกเลย อันเนื่องมาจากเป็นช่วงที่ ‘กระแสของการจัดงานโอลิมปิก’ มาแรงมาก ทำให้ประเทศต่าง ๆ มุ่งเป้าไปที่การประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมากกว่า จะมีแต่เพียง ‘Specialized Expo’ หรือ Expo เฉพาะทางเท่านั้น โดยจัดขึ้นถึง 11 ครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2534 โดยจริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ของงาน Expo และโอลิมปิกนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
จริง ๆ แล้วโอลิมปิกเองต้องขอบคุณงาน Expo ที่ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่มีการรื้อฟื้นมาแข่งขันกันใหม่ในยุคสมัยใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2439 ณ นครเอเธนส์ นั้น โอลิมปิกยังเป็นแค่การจัดการแข่งขันกีฬาในสายตาของคนทั่วไป ไม่ได้มีความยิ่งหญ่จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนผู้จัดงาน Expo ปี พ.ศ. 2443 ณ นครปารีส ดึงโอลิมปิกครั้งต่อมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘Expo 1900 Paris’ โดยเฉพาะในการสร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าชมงาน Expo ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับโอลิมปิกที่ดี เป็นที่รู้จัก และได้การยอมรับจากประชาคมโลกในทศวรรษต่อมา
มาถึงปี พ.ศ. 2535 นั้น กลับกันกลายเป็นว่าผู้จัดงาน ‘Expo 1992 Seville’ ที่เมืองเซบิยา ประเทศสเปน ต้องมาจงใจจัดงานในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปีเดียวกันที่เมืองบาเซโลน่า เพื่อให้โอลิมปิกช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้คนมาเยือนประเทศสเปนในช่วงเวลานั้นเพื่อมางาน Expo ไปด้วย แบบ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งมาดูกีฬา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของสเปนในปีนนั้นไม่น้อยทีเดียว
ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 วัตถุประสงค์หลักของงาน Expo ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอการ ‘เตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต’ (Preparation) และเจริญงอกงามของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมโลกที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของตนเอง ‘สาร’ ที่ผู้จัดต้องการจะสื่อ ณ ที่นี้ คือความร่วมมือในการป้องกันหายนะภัยตามที่แนวคิดหลักของงานได้ระบุไว้ โดยงาน Expo ที่จัดขึ้นหลังจากปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีการให้ความสำคัญกับการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้งาน Expo 2020 มีความน่าสนใจในมุมมองของการวางแผน และการออกแบบ คือตัว P ลำดับที่ 4 กล่าวคือ ‘Post-Event’ หรือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่จัดงานหลังจากงาน Expo จบลง โดยงาน Expo มักจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าสนใจให้กับเมืองที่เป็นเจ้าภาพ ทำให้กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกหลังจากเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo ซึ่งมีหลายแห่ง อาทิ ซีแอตเทิล (พ.ศ. 2505) มอนทรีออล (พ.ศ. 2510) โอซาก้า (พ.ศ. 2513) เซบิยา (พ.ศ. 2535) และเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2553) โดยพื้นที่จัดงาน Expo ของเมืองเหล่านี้มีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดออก โดยมีเพียงแค่อาคารสำคัญ หลัก ๆ บางหลังที่ถูกเก็บไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยเป็นเจ้าภาพมหกรรมการรวมตัวที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติ
งาน Expo 2020 แตกต่างจากงาน Expo ในครั้งก่อน ๆ ตรงที่ทางเจ้าภาพได้วางแผนที่จะเก็บสิ่งก่อสร้าง และ ‘พาวิลเลียน’ ต่าง ๆ ไว้กว่า 2 ใน 3 ส่วนเพื่อการใช้งานหลังจากงานจัดแสดงได้สิ้นสุดลง แทนที่จะรื้อถอน ทำลาย ออกไปแทบทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นกับงาน Expo ครั้งก่อน ๆ ทั้งนี้เนื่องจากความตั้งใจของนครดูไบเองที่จะใช้งาน Expo ในการสร้างเรื่องราวให้กับพื้นที่ใหม่กำลังจะพัฒนา และการให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการเลือกเจ้าภาพจัดงาน เพราะโลกในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีตที่มนุษย์จะสามารถใช้แรงเงินสร้างอาคารสถานที่ขึ้นมาแล้วรื้อถอนทิ้งขว้างตามอำเภอใจให้สิ้นเปลืองทรัพยากร
หลังจากงาน Expo สิ้นสุดหลังวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 พื้นที่จัดงาน Expo 2020 จะถูกเปลี่ยนเป็น ‘District 2020’ หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ ‘สตาร์ทอัพ’ และธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าพื้นที่จัดงานตั้งอยู่ตรงสถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแห่งเมืองดูไบ แผนการสร้าง District 2020 นี้ก็ทำให้อุ่นใจได้ว่า พื้นที่ผืนใหญ่แห่งนี้จะไม่ถูกทอดทิ้งให้เวิ้งว้างว่างเปล่า
บริษัทที่มีอิทธิพลหลายบริษัท อาทิ Siemens, Terminus และ DP World ได้ตกลงเช่าพื้นที่ของ District 2020 ต่อเรียบร้อยแล้ว ด้วยเป้าหมายที่ท้าทาย และมาตรการแรงจูงใจที่น่าดึงดูด เช่น การยกเว้นภาษีและค่าเช่า สำหรับธุรกิจที่มาใช้บริการ โครงการนี้จึงน่าเป็นที่จับตามองว่าจะดึงดูดธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลกที่มากความสามารถได้มากแค่ไหน โดยล่าสุดมีสตาร์ทอัพมากกว่า 600 รายที่ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นก่อนที่จะมีเพียงแค่ 80 รายที่จะถูกเลือกให้เป็น ‘รุ่นบุกเบิก’ (First Batch) ของ District2020 นี้
งาน Expo 2020 Dubai ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายบริษัทเพื่อออกแบบโครงข่ายพื้นฐานที่ล้ำสมัยที่สามารถใช้ในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ District 2020 เป็นต้นแบบของ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ สมาร์ตซิตี้ (Smart City) ด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง
‘พาวิลเลียน’ หรือ ศาลา แห่งความยิ่งใหญ่
พื้นที่จัดงาน Expo ที่กว้างใหญ่แบ่งออกเป็น 3 โซน แต่ละโซนถูกตั้งชื่อตาแนวความคิดย่อยของงาน ได้แก่ ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ (Mobility) ‘โอกาส’ (Opportunity) และ ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้ แยกออกมาจากส่วนกลางเหมือนกับนิ้วมือที่ยื่นแผ่ออกมาจากฝ่ามือ พื้นที่ตรงกลางเป็นโดมขนาดใหญ่ชื่อ ‘Al Wasl Plaza’ คำว่า Al Wasl แปลได้ตรงตัวว่า ‘เชื่อมต่อ’ และในขณะเดียวกันก็เป็นชื่อเดิมของนครดูไบด้วย เรียกได้ว่าชื่อนี้จึงเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาให้กับอาคารที่สำคัญที่สุดของงานและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งงาน Expo และนครดูไบซึ่งเป็นเจ้าภาพได้อย่างแยบคาย
เมื่อแผนการจัดงานถูกสรุปในปี พ.ศ. 2560 ประเทศที่เข้าร่วมงานต้องเลือก 1 ใน 3 แนวความคิดย่อย ซึ่งเป็นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของอาคารจัดนิทรรศการ หรือที่ภาษา Expo ใช้คำว่า ‘พาวิลเลียน’ ในงานครั้งนี้ด้วย แต่ละประเทศสามารถสร้างพาวิลเลียนเดี่ยวของตนเองแยกต่างหาก หรือปรับปรุงต่อยอดจากอาคารโล่ง ๆ ที่เจ้าภาพเตรียมไว้ให้ก็ได้
เนื่องจาก ‘พาวิลเลียน’ ดังกล่าวนี้มีขนาดใหญ่ได้ถึง 4,000–5,000 ตารางเมตร หรือเรียกได้ว่าเป็นอาคารขนาดมหึมาระดับหนึ่งได้เลย หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมอาคารจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่มโหฬารเหล่านี้ ยังถูกเรียกว่า ‘พาวิลเลียน’ หรือ ‘ศาลา’ ในภาษาไทย ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะในอดีตนั้น ประเทศต่าง ๆ ที่มาจัดแสดงงานที่งาน Expo จะมาสร้างเพียงแค่ ‘ศาลาเล็ก ๆ’ หรือ เต็นท์ เอาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม อาหาร หรือ ศิลปวัฒนธรรมมาแสดง โดยคำว่า ’Pavilion’ นี้มาจาก ภาษาอังกฤษยุคกลาง (Middle English) ซึ่งแปลงมาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณคำว่า ‘papilio(n-)’ หรือ ปาปิยอง ซึ่งแปลว่า ผีเสื้อ อีกที นั่นก็เพราะว่า เต็นท์ สมัยก่อนนั้น ดูเบา โปล่ง โล่ง เบาสบายเหมือนเป็นปีผีเสื้อนั่นเอง ถึงแม้ว่า ‘ศาลาเล็ก ๆ’ ดังกล่าว จะกลายมาเป็นอาคารขนาดมหึมาในปัจจุบัน โดยในงาน Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้นั้น China Pavilion ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เจ้าภาพมีขนาดถึง 71,000 ตารางเมตรเลยทีเดียว ทางงาน Expo ก็ยังเก็บคำว่า ‘พาวิลเลียน’ ไว้เรียกอาคารต่าง ๆ เพื่อระลึกเป็นประวัติศาสตร์ของงาน Expo
ถึงแม้ว่าการสร้างพาวิลเลียนเดี่ยวจะเป็นทางเลือกยอดนิยม เพราะสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างพาวิลเลี่ยนเดี่ยวนั้นค่อนข้างสูง หลายประเทศจึงเลือกที่จะจัดนิทรรศการในพื้นที่โล่ง ๆ ที่เจ้าภาพเตรียมไว้ให้ อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเทศที่ยืนยันที่จะนำเสนอความยิ่งใหญ่ผ่านการสร้างพาวิลเลี่ยนเดี่ยว กลุ่มพาวิลเลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ตระการตาในงาน Expo 2020 นั้นเป็นของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธาณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอิตาลี สาธาณรัฐอินเดีย ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐรัสเซีย และรัฐคูเวต
สำหรับการสร้างพาวิลเลียนเหล่านี้ประเทศเจ้าภาพจะจัดเตรียมที่ดิน และสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ และประเทศที่เข้าร่วมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และบำรุงรักษาดูแล ดังนั้นงาน Expo ในครั้งนี้จึงนำรายได้ก้อนใหญ่มาสู่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และสถาปนิกท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
พื้นที่ทั้ง 3 โซนนั้น มีพาวิลเลียนหลักที่เป็นจุดดึงดูดความสนใจที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังระดับโลก พาวิลเลียนเหล่านี้ได้สื่อสารแนวคิดล้ำสมัยผ่านภาษาทาง ‘สถาปัตยกรรม’ เช่น สถาปนิกชื่อดังจากสหราชอาณาจักร ‘กริมชอว์’ ได้ออกแบบ ‘อาคาร Terra’ (มาจากรากทรัพย์ภาษาลาตินแปลว่า ‘แผ่นดิน’) สำหรับโซน ‘ความยั่งยืน’
คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เป็นประเด็นที่ไม่เคยล้าสมัย เพราะสิ่งที่จำเป็นสำหรับสิ่งแวดล้อมในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ก่อนที่จะสายเกินไป หลังคาของ Terra เป็นโครงสร้างแบบซุ้มขนาดใหญ่ ที่กว้างถึง 130 เมตร และถูกปกคลุมด้วยแผงโซล่าเซลล์ถึง 1,055 แผ่น พาวิลเลียนนี้จึงถูกตั้งสมญานามว่า ‘Contact’ เพราะมีความคล้ายคลึงกับอาคารที่ใช้รับคลื่นความถี่วิทยุในภาพยนตร์เรื่อง Contact นี่คือตัวอย่างของการใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบเพื่อสื่อสารเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ที่ตั้งเป้าหมายที่การลดการใช้น้ำ และพลังงานให้เป็นศูนย์
แผ่นอลูมิเนียมที่ห่อหุ้มพาวิลเลียน ‘Alif’ ในโซน ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ (Mobility) สะท้อนรูปแบบนำสมัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตของบริษัทออกแบบ Foster + Partners ผู้ออกแบบผลงานชิ้นนี้ นิทรรศการขนาดใหญ่ใน Alif บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของ ‘ความไม่หยุดนิ่ง’ ในวัฒนธรรมอาหรับ ตั้งแต่การพัฒนาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ จนถึงจักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่โลกจริงและโลกแห่งดิจิทัลจะผสานรวมกันเป็นหนึ่ง
บริษัท AGi Architect สร้างพาวิลเลียนชื่อ ‘mission possible’ ในโซน ‘โอกาส’ (Opportunity)ซึ่งนำเสนอความเป็นพื้นที่พบปะของผู้คนที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านช่วงวัย ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงประสบการณ์ที่มนุษยชาติมีร่วมกัน
ประเทศต่าง ๆ ล้วนสรรหาสถาปนิกชั้นนำเพื่อออกแบบพาวิลเลียนของตนเอง เช่นกันกับที่เคยเป็นมาในงาน Expo ครั้งก่อน ๆ โครงสร้างที่ยิ่งใหญ่จากงาน Expo ในครั้งแรก ๆ ต่างยังถูกกล่าวถึงในฐานะมรดกจากงาน Expo มาจนถึงทุกวันนี้ พาวิลเลียนบางแห่งถูกออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก เช่น ซานเตรียโก กาลาตราบา ซึ่งออกแบบทั้งพาวิลเลี่ยนเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพาวิลเลียนเดี่ยวที่เล็กที่สุดของงานสำหรับรัฐการ์ตาด้วย
ประเทศต่าง ๆ สามารถออกแบบการใช้พื้นที่ภายในพาวิลเลียนด้วยตัวเอง บางประเทศให้ความสำคัญกับนิทรรศการ ในขณะที่บางประเทศจัดสรรพื้นที่สำหรับการพบปะสังสรรค์ทางธุรกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์ และการแสดง พาวิลเลียนของบางประเทศ เช่น ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ นำเสนอแนวคิดจากการทดลองใหม่ ๆ โดยการนำเสนอภาพจำลองของเมืองในอนาคต
พาวิลเลียนของเนเธอร์แลนด์ที่ชื่อว่า ‘ปล่องชีวิต’ หรือ ‘Biotope’ นำเสนอภาพของระบบนิเวศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สกัดน้ำออกมาจากอากาศ และพลังงานสำหรับการสร้างอาหารจากพืช พาวิลเลียนนี้จึงทำหน้าที่คล้ายกับการเป็นโอเอซิสจำลองของงาน Expo ที่นำเสนอภาพจำลองการใช้ชีวิตในอนาคตท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศ พาวิลเลียนที่ชื่อ ‘City in Nature’ ของสิงคโปร์ นำเสนอความพยายามที่จะออกแบบอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Building) ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ และพัดลมละอองน้ำช่วยลดอุณหภูมิที่ใช้พลังงานสะอาด
พาวิลเลียนที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือพาวิลเลียนที่การออกแบบทางสถาปัตยกรรมสอดคล้องกลมกลืนกับนิทรรศการ มากกว่าความงดงามตระการตาทางกายภาพซึ่งมองเห็นได้จากข้างนอกแต่เพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น พาวิลเลียนจากสหราชอาณาจักร ที่ออกแบบโดย Es Devlin Studio อาจจะเป็นพาวิลเลียนที่ถูกบันทึกภาพมากที่สุดเพราะรูปทรงภายนอกที่แหวกแนวแปลกตา หากนิทรรศการภายในกลับไม่เป็นที่จดจำ เรียกว่าไม่มีใครจำได้เลยทีเดียว เพราะจุดสนใจถูกดึงไปอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอกของอาคารจนหมดแล้ว จนองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ นิทรรศการเอง ถูกละเลยไป ถึงแม้ว่าความสวยงามทางสถาปัตยกรรมจะเป็นหนึ่งในแก่นที่สำคัญของงาน Expo แต่ผู้ร่วมงานโดยส่วนมากนั้นไม่ใช่สถาปนิก ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงให้ความสนใจกับนิทรรศการ รวมถึงกิจกรรม และการแสดงในงานมากกว่าเพียงแค่ความสวยงามของอาคาร
พาวิลเลียนยอดนิยมในงาน Expo 2020 Dubai
พาวิลเลียนของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คือพาวิลเลียนยอดนิยมสำหรับผู้เข้าชมงานจัดแสดง พาวิลเลียนของเยอรมนีเป็นเหมือนกับห้องทดลองที่มีชีวิตของการทดลองที่เกี่ยวกับ ‘ความยั่งยืน’ ผู้ชมสามารถดื่มด่ำกับนิทรรศการจนลืมเวลาได้ ในระหว่างที่เดินชมนิทรรศการแบบสื่อปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครี่งในพาวิลเลียนนี้ ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีผ่านสื่อประเภท วงล้อ คันโยก ปุ่มกด และวัตถุที่เคลื่อนที่ได้ การเล่นเกมส์ และอื่น ๆ อีกมากมาย บรรยากาศภายในของพาวิลเลียนจึงสามารถดึงดูดให้ผู้ชมใช้เวลาได้นานถึง 1–2 ชั่วโมงกับนิทรรศการที่สามารถโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์กันได้
พาวิลเลียนของประเทศญี่ปุ่น เป็นพาวิลเลียนที่สามารถใช้เวลามากกว่า 2 ชม. ได้สบาย ๆ แม้ว่าเขาจะให้เวลาผู้เข้าชมแค่รอบละ 45 นาทีเท่านั้น เส้นทางภายในพาวิลเลียนของประเทศญี่ปุ่นนี้ใช้เทคนิคการเดินในแบบจำลองสามมิติที่ผู้ชมสามารถเลือกทางเดินของตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจประเทศญี่ปุ่นให้มากขึ้น โดยก่อนเข้านิทรรศการผู้เข้าชมแต่ละท่านจะได้รับอุปกรณ์เล็ก ๆ สำหรับสวมไว้ที่คอ มองดูคล้ายกับอุปกรณ์สื่อโสตทัศน์ (Audio Visual) โดยทั่วไป
ซึ่งต่อมาผู้เข้าชมจึงทราบว่าอุปกรณ์เล็ก ๆ เหล่านี้จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เข้าชมแต่ละคนเอาไว้ ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการชุดใดบ้างในระหว่างที่เดินชมพาวิลเลียนขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบให้นำเสนอบทบาทของญี่ปุ่นต่อประชาคมโลกใน อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้อมูลของผู้ชมเหล่านี้จะถูกนำมาใช้สร้างภาพการ์ตูนเสมือนที่เคลื่อนไหวได้ และถูกฉายลงบนกำแพงในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการโดยภาพเสมือนที่มีเอกลักษณ์ของผู้ชมมากกว่า 40 ท่านนี้ไม่มีภาพใดที่เหมือนกันเลย การแสดงผลขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการชมนิทรรศการของผู้ชมแต่ละคนในพาวิลเลียน
พาวิลเลียนของญี่ปุ่นในครั้งนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมงานต่างคาดหวัง และจินตนาการถึงงาน Expo ครั้งถัดไปที่จะจัดขึ้นใน นครโอซาก้าในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ โตเกียว และ โอซาก้า เมืองที่สำคัญที่สุดสองเมืองของประเทศญี่ปุ่นไม่ยอมน้อยหน้ากันในการเป็นเจ้าภาพงานสำคัญ โดย พ.ศ.2507 และ พ.ศ. 2513 คือปีที่โตเกียวและโอซาก้า เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและ Expo ตามลำดับ โดยที่ปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาทางโตเกียวก็เพิ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไป อีก 4 ปีต่อมาก็ไม่พ้น โอซาก้า ที่ได้โอกาสแสดงแสนยานุภาพบ้าง โดยพื้นที่จัดงานทั้งหมดของ ‘Expo 2025 Osaka’ นั้น เป็นพื้นที่ที่ถมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2567
รูปลักษณ์ที่ดูแปลกประหลาดของพาวิลเลียนของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เหมือนกับอาคารที่พุ่งทะแยงจากพื้นดินออกมาขึ้นสู่ท้องฟ้าจะดูสมเหตุสมผลขึ้นมาทันทีเมื่อผู้ชมเดินเข้าไปด้านในพาวิลเลียนที่นำเสนอด้วยการวางเส้นทางเดินภายในตัวอาคารให้ผู้ชมได้ถูกสร้างอารมณ์ร่วมอย่างแยบยล ตั้งแต่การเดินเข้าสู่ตัวอาคารผ่านพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีกระจกขนาดมหึมาเข้าสู่ตัวอาคารผ่านชั้นใต้ดินเพื่อย่างเข้าสู่ห้องต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการฉายภาพแบบล้ำสมัย ผู้ชมเริ่มต้นเดินชมนิทรรศการจากชั้นใต้ดินขึ้นสู่ชั้นที่สูงขึ้นเพื่อชมนิทรรศการเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียในยุคปัจจุบันผ่านการฉายภาพทั้งแนวตั้งและแนวนอนบนผนังด้านหนึ่ง และผู้ชมสามารถชื่นชมภาพจากมุมสูงของงาน Expo 2020 ในอีกฟากฝั่ง
ระหว่างเส้นทางเดินกลับลงสู่ชั้นล่าง ผู้ชมจะมองเห็นภาพฉายที่ซับซ้อน และลุ่มลึก ที่สะท้อนความเป็น จักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย เรียนรู้ ทำงาน และเล่นสนุกของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้
พาวิลเลียนที่ยกตัวอย่างมาทั้งสามนี้ ประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ชมจากเนื้อหานิทรรศการภายในมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของพาวิลเลียน
แม้จะเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าพาวิลเลียนควรถูกออกแบบโดยสถาปนิกร่วมกับนักออกแบบนิทรรศการ แต่หลาย ๆ ประเทศกลับไม่มีโอกาสแบบนั้น เนื่องจากมีการจัดการแข่งขันออกแบบพาวิลเลียนระดับประเทศ ซึ่งสถาปนิกมักจะได้รับการคัดเลือกก่อน ทำให้ผู้ออกแบบนิทรรศการต้องพยายามออกแบบให้สอดคล้องกับตัวสิ่งก่อสร้าง ประเด็นนี้มักจะนำมาซึ่งความไม่สอดคล้องกันระหว่างการออกแบบโครงสร้าง และตัวนิทรรศการ เช่น พาวิลเลียนของสาธารณรัฐเกาหลี ที่เป็นหนึ่งในพาวิลเลียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของงาน Expo ที่นครดูไบ ในครั้งนี้ แต่กลับไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมนิทรรศการมากนัก
“จะดีกว่านี้มาก ถ้าผมเองในฐานะสถาปนิกได้มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกับนักออกแบบนิทรรศการไปด้วยกันตั้งแต่แรกเริ่ม” มร. มุน ฮุน สถาปนิกชาวเกาหลีได้กล่าวเอาไว้ในการสัมภาษณ์พิเศษ
อย่างไรก็ตาม ยังมีพาวิลเลียนอีกหลายแห่งที่มีการออกแบบที่คล้ายคลึงกันแต่ได้รับความนิยมสูง เช่น ราชรัฐลักเซมเบิร์ก สาธารณรัฐเซอร์เบีย และสาธารณรัฐคาซัคสถาน ซึ่งแม้จะเป็นพาวิลเลียนที่มีขนาดเล็ก แต่ผู้มาเยือนก็ไม่ควรพลาดการเข้าชม
ประเทศไทย ในงาน Expo 2020 ที่นครดูไบ
ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ ‘พาวิลเลียนของไทย’ (Thailand Pavilion) เป็นที่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว กระนั้น พาวิลเลียนของไทยก็ยังได้รับความนิยมในระดับ 1 ใน 5 พาวิลเลียนที่มีผู้มาเยือนสูงสุด
ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจพอสมควรที่พาวิลเลียนขนาดไม่ใหญ่มากของประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้มาเยือนพาวิลเลียนมากล้นเกินความคาดหมาย ซึ่งจากการสังเกตการณ์เป็นเวลา 18 ชั่วโมงต่อวัน ยาวนานถึง 6 สัปดาห์ของผมนั้น ทำให้ทราบว่ามีปัจจัยสำคัญในการออกแบบบางประการที่ทำให้พาวิลเลียนของไทยกลายเป็นนิทรรศการยอดนิยมในงาน Expo ครั้งนี้ คือ การออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมโดยเฉพาะพื้นที่เปิดโล่งหน้าตัวอาคาร กิจกรรมการแสดงสดที่ตื่นเต้นน่าประทับใจ และนิทรรศการที่เข้าใจง่าย
เรามาลงรายละเอียดกันทีละปัจจัย
ปัจจัยแรกคือ อัตถประโยชน์เปิดโล่งหน้าอาคาร
ประเทศอื่น ๆ มักจะใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าจึงสร้างพาวิลเลียนให้เต็มพื้นที่ แต่พาวิลเลียนของไทยนั้นร่นระยะจากขอบของพื้นที่ที่ได้รับจัดสรร ทำให้ผู้ชม สามารถมองเห็นส่วนหน้าของตัวอาคารได้ชัดเจนมากขึ้น การออกแบบแบบนี้นอกจากจะทำให้ตัวอาคารดูโดดเด่น น่าสนใจ แตกต่างจากพาวิลเลียนของประเทศอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะที่ผู้ชมสามารถมารวมตัวกันได้ ลานโล่งที่ถูกเรียกว่า ‘Welcome Plaza’ นี้ ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ร่มเงาให้กับผู้เข้าชมงานในโซนนี้ด้วย
“Welcome Plaza เป็นพื้นที่สำหรับหลบไอร้อนและพักผ่อน เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นไทยในเรื่องของความมีน้ำใจต้อนรับขับสู้” คุณชัยวัฒน์ ลิมวัฒนานนท์ หัวหน้าทีมสถาปนิกจาก Design 103 International ได้กล่าวถึงแนวความคิดในการออกแบบ
ปัจจัยประการที่สองคือ การแสดงสดที่ดึงดูด
ระบบแสงที่ตกแต่งภายนอกอาคารในยามค่ำคืนพร้อมกับเสียงเพลงที่เข้ากับบรรยากาศ ดึงดูดให้ผู้ชมที่แม้จะอยู่ห่างไกลออกไปถึงครึ่งกิโลเมตรก็ยังสามารถหันมาให้ความสนใจกับการแสดงประจำวัน การแสดงบนลานแห่งนี้มี 3 ชุด ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไป จัดแสดง 5 ครั้งในหนึ่งวัน ผู้ชมนับพันพากันหลั่งไหลเข้ามาชื่นชมการแสดงใน Welcome Plaza ที่กลายเป็นลานการแสดงที่ทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัสการแสดง และนักแสดงอย่างใกล้ชิด
“ในยุคสมัยที่เราถูกห้อมล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การได้ชมการแสดงที่เกิดขึ้นในโลกจริงเหมือนการแสดงประจำวันของพาวิลเลียนของประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้รับประสบการณ์ที่สดชื่น แปลกใหม่” ยูทูปเบอร์ที่นำเสนอวิดิโอคลิปเกี่ยวกับพาวิลเลียนในงาน Expo ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีกับพาวิลเลียนของไทย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าปัจจัยหนึ่งในความสำเร็จของพาวิลเลียนของประเทศไทย คือความสอดคล้องเข้ากันของสถาปัตยกรรมภายนอก และการออกแบบนิทรรศการภายใน
“สถาปนิก และนักออกแบบนิทรรศการทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรก ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอาคารและการตกแต่งภายในจะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” คุณเกรียงไกร กาญจนโภคิณ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Index Creative Village ผู้รับผิดชอบการออกแบบพาวิลเลียนของประเทศไทยได้บอกถึงที่มาที่ไปของการออกแบบที่แยบยล
ปัจจัยที่สามคือความเรียบง่าย กระชับในการเล่าเรื่องแบบเข้าใจง่ายของนิทรรศการ (เรียกว่า ไม่ต้อง ‘ปีนบันได’ ดู)
นิทรรศการทั้ง 4 ห้องบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างเรียบง่าย เริ่มจากความเชื่อที่เป็นรากฐานวัฒนธรรม สู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของ ‘น้ำ’ จากนั้นนิทรรศการก็เริ่มนำเสนอบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของอุตสาหกรรมใหม่ และนำเสนอบทสรุปของความงดงามทางธรรมชาติ ที่นำพาอาคันตุกะให้มาเยือนและตกหลุมรักประเทศไทย โดยนิทรรศการทั้ง 4 ห้องนี้ ใช้เวลารับชมทั้งสิ้นประมาณ 18 นาที
แม้ว่างาน Expo ครั้งแรก ๆ (‘ยุค Products’) จะจัดขึ้นในทวีปยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก แต่ประเทศไทยก็มีประวัติความเป็นมากับงาน Expo อย่างยาวนานไม่แพ้ประเทศอื่น ในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกยังรู้จักในนามของ ‘ราชอาณาจักรสยาม’ โดย จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทูลเชิญให้รัชกาลที่ 4 จัดส่งผู้แทนของราชอาณาจักรสยามมา ‘ตั้งพาวิลเลียน’ ในงาน Exposition Universelle ที่มหานครปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2410 รวมทั้งครั้งต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2421
ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สยามได้ส่งสิ่งของไปร่วม Paris Expo 1900 (หรือ พ.ศ. 2443 ที่มีชื่อเป็นทางการว่า ‘Paris Exposition Universelle’ หรืองานแสดงสินค้านานาชาติที่ปารีส) ซึ่งทั้งสองครั้งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมอย่างล้นหลาม ทำให้ราชอาณาจักรสยามเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ พาวิลเลียนของประเทศไทยก็ยังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทั้งใน ‘World Expo’ สองครั้งหลังสุด ที่ นครเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2553) เมืองมิลาน (พ.ศ .2558) และ ‘Specialized Expo’ เมืองแอสตาน่า ประเทศคาซักสถาน (พ.ศ. 2560) และ เมืองยอซู สาธารณรัฐเกาหลี (พ.ศ. 2555)
ประเทศไทยเอง เคยจัดงานใหญ่ระดับนึ้หนึ่งครั้งคืองานนิทรรศการประจำชาติปี พ.ศ. 2425 ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า ‘The National Exhibition’ โดยจัดขึ้นในวาระฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 100 ปี ซึ่งเป็นงานนิทรรศการที่มีความสำคัญมากในการสร้างความรับรู้ให้กับคนไทยด้วยกันและต่างชาติแม้ว่านิทรรศการประจำชาติปี พ.ศ. 2425 นี้จะไม่ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในงาน Expo เนื่องจากตอนนั้นไม่ได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ ส่วนงาน Expo อย่างเป็นทางการนั้น ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพงาน Expo หนึ่งครั้ง คือ Expo รูปแบบพิเศษด้านพืชสวน หรือที่เรียกว่า ‘Horticulture Expo’ ซึ่งคืองานพืชสวนโลก ปี พ.ศ. 2549–2550 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะจำกันได้นั่นเอง
ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2556 นครดูไบชนะการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพงาน Expo ซึ่งนานาประเทศต่างร่วมแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดงานไม่ต่างจากกีฬาโอลิมปิก หรือการประชุมนานาชาติที่สำคัญอื่น ๆ ด้วยแนวคิด ‘Connecting Minds, Creating the Future’ หรือ เชื่อมใจ สร้างอนาคต ในขณะนั้น ประเทศไทยของเราเองก็เสนอได้เมืองอยุธยาในการร่วมประมูลสิทธิ์นี้ด้วย โดยได้รับความสนใจจากคณะกรรมการของ BIE เป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากความน่าสนใจของประเทศไทยทางด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม และชื่อเสียงของเมืองอยุธยาเองในความเป็นเมืองมรดกโลก
ทว่าเมืองอยุธยาก็ไม่ได้ผ่านเข้ารอบลึก ๆ ของการประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพงาน Expo อันเนื่องมาจากเหตุผลอื่น ซึ่งจะว่าไปก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ความโชคดี’ เพราะหากได้รับเลือก และต้องมาจัดงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ การจัดงาน Expo คงจะกลายเป็นทุกขลาภที่ทำให้มีความยากลำบากไม่น้อยในการจัดงาน
ทั้งนี้คนไทยอาจจะได้เป็นเจ้าภาพ Expo กันอีกครั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “Specialized Expo” ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน ‘Expo 2028 — Phuket, Thailand’ ในปี พ.ศ. 2571 โดยจะมีแนวความคิดหลักของงานเป็นเรื่องที่เกียวข้องกับสุขภาพและการสาธารณสุข
บทสรุป
นครดูไบที่ผมได้ไปสัมผัสในครั้งนี้แตกต่างจากภาพจำหลักที่ผู้คนมีต่อเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นครดูไบมีความพยายามที่จะเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ ‘โลกยุคหลังน้ำมัน’ อาทิ การลดการผลิตและการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ได้
งาน Expo 2020 ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของนครดูไบที่จะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจฐานบริการ พลังงานหมุนเวียน และการทำเทคโนโลยีดิจิทัล แทนผลิตน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันเป็นรายได้ไม่ถึง 1% ของ GDP ของนครดูไบ เท่านั้น ในขณะที่การท่องเที่ยวสร้างรายได้ถึง 20% ของ GDP โดยรายได้ส่วนที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมบริการ อาทิ การเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ
นครดูไบ สามารถจัดงานที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ท่ามกลางความฝืดเคืองจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น มาตรการป้องกันทางสุขภาพ โดยเฉพาะมาตราการป้องกันการติดต่อของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดอันดับต้น ๆ ของโลก รวมไปถึงความพยายามและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน กระบวนการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และความเชื่อมั่นว่างาน Expo จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเมืองเจ้าภาพในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดด้านการเดินทาง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นผู้ที่มาเยี่ยมชมงาน Expo จึงเป็นคนในพื้นที่เสียเป็นส่วนมาก
นครดูไบสามารถนำเสนอ และรักษาระดับความน่าสนใจของงานจัดแสดงผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างยอดเยี่ยม ช่องทางกระจายข่าวสารทางดิจิทัลบางช่องทางนำเสนอข้อมูลใหม่ทุกวัน ถึงแม้ว่าผมจะกลับมาจากนครดูไบได้กว่าสามเดือนแล้ว แต่ก็ยังสามารถติดตามข่าวสารในงาน Expo ได้อย่างง่ายดายจากทางบ้าน ถึงแม้ว่าประสบการณ์ที่ได้รับจะแตกต่างจากการเข้าไปรับชมด้วยตนเอง แต่คุณภาพของสื่อออนไลน์ก็สูงเพียงพอที่จะทดแทนในส่วนนั้นได้
“จริง ๆ แล้วการได้ชมงาน Expo จากโซฟาที่บ้านนั้นก็เยี่ยมไม่แพ้กับได้ไปชมงาน Expo ด้วยตัวเอง เพราะไม่ต้องผจญกับความร้อน (หากใครไม่เคยไปเยือนเมืองกลางทะเลทรายก็คงจะไม่รู้ว่า ความร้อนระอุเสมือนร่างกายจะละลายเป็นน้ำนั้นมันขนาดไหน) และความเสี่ยงติดเชื้อโควิดจากฝูงคนจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ อีกด้วย” ผู้เข้าชมทางออนไลน์บางท่านยังได้กล่าวว่า
ภาพถ่าย และวิดิโอคลิปนับล้านที่ถูกโพสต์และส่งต่อในแต่ละวันในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ สามารถรับชมได้ทั้งจากทางคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ช่วยยกระดับให้งาน Expo เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ในระหว่างที่เดินทางกลับสู่ประเทศไทย รายการบันเทิงจากอุปกรณ์ที่ให้บริการบนเครื่องบินได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ‘เมตาเวิร์ส’ บริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ต่างลงทุนในการผสานโลกจริง และโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับมนุษย์ เพื่อการอยู่อาศัย เรียน ทำงาน และเล่นสนุก โดยเป้าหมายของโครงการเหล่านี้คือการสร้าง ‘โลกคู่ขนาน’ กับโลกที่เราอยู่อาศัยอยู่ใบนี้ คล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One และ The Matrix ในเมื่อระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ สามารถปฏิบัติงานในระดับแรงงานได้ในโลกจริง มนุษย์ก็สามารถอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากความสามารถในการประมวลความรู้ในรูปแบบใหม่ รวมทั้งรังสรรค์ผลงานใหม่ ๆ สำหรับเครื่องจักรได้เช่นกัน
ยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประการที่จะทำให้การอยู่ใน ‘เมตาเวิร์ส’ ตลอดเวลายังเป็นไปได้ยาก หากแต่การแข่งขันในวงการนี้จะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ใครจะรู้ งาน Expo ในทศวรรษหน้าอาจจะถูกจัดขึ้นใน เมตาเวิร์ส ก็ได้ และนั่นคงจะทำให้ผู้คนที่สามารถเข้าร่วมงานได้ไม่ได้มีเพียง 100 ล้านคน แต่อาจจะมากถึง 8 พันล้านคนก็เป็นได้
คุณล่ะ พร้อมหรือยังที่จะเข้าร่วมงาน Expo 2035 Metaverse….
ขอบคุณ: บทความชิ้นนี้จะถูกเขียนออกมาไม่ได้เลยหากผู้เขียนไม่ได้รับความรู้จากการพูดคุย สนทนากับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงาน Expo ทั้งที่นครดูไบ และในอดีต โดยนอกจากหลายท่านที่ได้กล่าวถึงแล้วในบทความนี้ ผมขอขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นจากมุมมองของผู้รับผิดชอบและจัดงาน ขอขอบคุณ อ. ดร. ดีแลน เซาเธิร์ด จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้อ่าน พิสูจน์อักษรให้อย่างละเอียด และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมาย ดร.ภาสกร ประถมบุตร อนุญาติให้ใช้ภาพถ่ายประกอบบทความ ขอบคุณคุณซาอูด ซาราฟ อดีตเพื่อนร่วมห้องเรียนระดับบัณฑิตศึกษาที่มีโอกาสได้มาเจอกันอีกเพราะงาน Expo 2020 Dubai นี้ ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปของนครดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอบคุณ ดร.ศรันภัทร โชติมนกุล ที่ทำหน้าที่แปลบทความนี้เป็นภาษาไทยได้อย่างน่าอ่าน ขอบคุณ ศาสตราจารย์จอห์น เครสปี และคุณชลวรรณ วนิชพันธุ์ และผู้อ่านร่างของบทความนี้ใน Medium.com ที่ได้เสนอแนวทางการปรับปรุงบทความนี้ที่ทำให้ผู้อ่านทุกคนสามารถเข้าถึงบทความนี้ได้มากขึ้น